ตำนานบ้านหมาแข้ง
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า บ้านหมากแข้ง เนื่องจากเดิมเป็นบ้านร้างเรียกว่า บ้านหมากแข้ง เพราะมีต้นหมากแข้ง (มะเขือพวง) ใหญ่ต้นหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งมีตำนานเล่ากันสืบมา เรื่องบ้านหมากแข้งว่า
"…บริเวณใกล้เคียงที่สร้างวังของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดมัชฌิมา-
วาส มีโนนอยู่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "โนนหมากแข้ง" มีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดังกรงนกเขาตั้งอยู่ที่โนนนั้น เล่ากันสืบมาว่า เป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่ นัยว่ามีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่ต้นหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงล้านช้างร่มขาวได้ให้มาโค่นไปทำกลอง และทำเป็นกลองขนาดใหญ่ได้ถึง ๓ ใบ ใบหนึ่งเอาไปไว้ที่นครเวียงจันทน์ ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเหตุในเมื่อข้าศึกศัตรูมาราวี เมื่อตีกลองใบนี้พระยานาคจะขึ้นมาช่วยรบข้าศึกศัตรูให้พ่ายแพ้ แต่ภายหลังถูกเชียงเมี่ยงไปหลอกให้ทำลายกลองใบนี้เสีย ชาวเวียงจันทน์จึงไม่มีพระยานาคมาช่วยดุจในอดีต ใบที่สองนำไปไว้ที่พระนครหลวงพระบางส่วนใบที่สามเป็นใบที่เล็กกว่า ๒ ใบนั้น ได้นำไปไว้ที่วัดหนองบัว (วัดเก่าตั้งอยู่ติดกับถนนสายอุดร - สกลนคร ห่างจากทางรถไฟประมาณ ๕ เส้น ยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) เพราะมีกลองหมากแข้งอยู่ที่วัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งหนองบัว จึงเรียกว่า หนองบัวกลอง (แต่ในปัจจุบันคำว่ากลองหายไป คงเหลือแต่หนองบัวเท่านั้น) ต้นหมากแข้งต้นนี้คนในสมัยก่อนไม่มีความชำนาญในมาตรวัด จึงบอกเล่าขนาดไว้ว่า ตอต้นหมากแข้งนั้น ภิกษุ ๘ รูปนั่งฉันจังหันได้สะดวกสบาย…"
แสดงว่าต้นหมากแข้งต้นนั้นใหญ่โตมากเอาการทีเดียว แต่คงไม่ได้หมายความว่าภิกษุทั้ง ๘ รูป นั้นนั่งบนตอหมากแข้ง เห็นจะหมายความว่าภิกษุ ๘ รูปนั่งวงล้อมรอบตอหมากแข้ง โดยใช้ตอหมากแข้งนั้นเป็นโต๊ะหรือโตกสำหรับวางอาหาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมองเห็นว่าเป็นต้นหมากแข้งที่ใหญ่มากทีเดียว
เรื่องต้นหมากแข้งนี้ ท่านเจ้าคุณปู่พระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ บุญญศิริมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ซึ่งได้มาอยู่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ คือหลังจากสร้างวัดเพียง ๔ ปี ได้เล่าว่า ที่โนนหมากแข้งนั้นมีต้นหมากแข้งขนาดเล็กอยู่มากมาย และมีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าวขนาดเขื่องอยู่ต้นหนึ่ง แต่มีลำต้นไม่สูง เป็นพุ่มมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกอย่างไพศาล ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๒ มีแบ้ (แพะ) ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ จำนวนมากได้มากินใบกินกิ่งก้านของมันมันจึงตายเข้าใจว่า ต้นหมากแข้งต้นนี้จะเป็นหลานหรือเหลนของต้นหมากแข้งที่เจ้าเมืองลานช้างร่มขาวเอาไปทำกลองเพลนั้นแน่ เจดีย์ศิลาแลงนั้นตั้งอยู่ตรงกลางพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาส ในปัจจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง
ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ ๑/๑๗๔ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม สรุปความว่าพระองค์ทรงเห็นชอบด้วยกับกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ที่ได้เลือกบ้านหมากแข้งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน ดังความตอนหนึ่งว่า
"…บัดนี้ ได้ทราบว่า ที่ถอยลงมาตั้งอยู่บ้านหมากแข้ง ว่าเปนที่กลางป่า ไข้เจ็บชุกชุม ไม่เปนภูมิสถานซึ่งจะตั้งมั่งคงสำหรับข้าหลวงต่างพระองค์ ยั่งยืนต่อไปได้ จึ่งได้เรียกแผนที่มาดูก็เห็นอยู่ว่าตำบลซึ่งเธอถอยลงมาตั้งนั้น เปนที่สมควรแก่จะยึดหน่วงหัวเมืองริมฝั่งโขง แลจะส่งข่าวถึงหัวเมืองทั้งปวงได้โดยรอบคอบ มีระยะทางไม่สู้ห่างไกลทุกทิศ แต่เมื่อไต่สวนถึงประเทศที่นั้นก็ไปได้ความว่าเปนที่ไม่บริบูรณดี และมีไข้เจ็บชุกชุม มีความสงสารตัวเธอแลไพร่พลทั้งปวง ซึ่งขึ้นไปอยู่ด้วยจะได้ความลำบาก เจ็บป่วย จึ่งขอหาฤาตามความเห็นต่อไป…" และได้ทรงหารือกับกรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคมว่า หากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมจะถอยลงมาอยู่ที่นครราชสีมาและให้ข้าหลวงไพร่พลอยู่ที่บ้านหมากแข้งก็ได้ แต่จะมีผลเสียทำให้หัวเมืองลาวเห็นว่า ฝ่ายเราย่อท้อต่อฝรั่งเศส และได้ทรงให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมตัดสินพระทัยเอง
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) สรุปความว่า กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงมีความเห็นว่าภูมิประเทศของบ้านหมากแข้ง เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ ดังความตอนหนึ่งว่า
"…ข้าพระพุทธเจ้า ใด้ภักที่นี้ด้วยเวลาเดินทาง ๒ ครั้ง ต้องภักอยู่ ๒ เวลา ทั้ง ๒ คราวเพราะชอบภูมที่จริง ๆ ครั้นใด้มาอยู่จิงจังเข้าก็ยิ่งชอบมากขึ้น แต่เปนธรรมดาที่ ๆ ใดห่างจากบ้านเมืองที่ราษฎรค้าขายก็จำเปนที่จะหาอาหารลำบาก แต่บัดนี้ ก็บริบูรณกว่าเมืองอื่น ๆ ที่ใด้เห็นและพวกที่ใปมายังซ้ำกล่าวว่า ที่หนองคายเดี๋ยวนี้ ตลาดร่วงโรยใป สู้ที่นี้ใม่ใด้ จะยอให้หรืออย่างใร ใม่ทราบเกล้าฯ แต่ถ้าจะยอก็ละเอียดพอรับใด้คือ ใด้เดินตรวจดูในปี ๑๑๓ มีเรือนราษฎรอพยพเข้ามาจากหนองคาย และออกมาจากหนองละหาร - กุมภวาปี ขรแก่น เปนอันมาก กลางคืนแลดูเหนใฟรายใบ คล้ายแพที่จอดในลำน้ำกรุงเทพ จนมีพยานใด้ว่าเมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ พระยาใตรเพชรัตนสงครามข้าหลวงหนองคายสั่งให้คนเข้ามาซื้อศีศะหอมที่บ้านหมากแข้ง ๑ บาท ใด้ถามใด้ความว่า ที่โน่นใม่มีใครปลูกเพราะขายใม่ใด้…"
ส่วนทางด้านความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่บ้านหมากแข้ง มีโรคภัยน้อยกว่าที่หนองคาย และในที่สุดกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงกราบบังคมทูลฯ ในตอนท้ายด้วยความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อความจงรักภักดีในแผ่นดิน และองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะมีความยากลำบากสักปานใดก็ตามดังความว่า
"…จะคิดถึงการแผ่นดินแล้ว เท่านี้ยังเพียงนี้ ถ้ายิ่งกว่านี้จะทำอย่างไรสู้แลกกับมันตัวต่อตัวดีกว่า เหนดีกว่านอนให้ฝีในท้องกินตาย…"
|
ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
"…ถึง กรมดำรงราชานุภาพ ด้วยตามที่เธอได้ขอให้จดหมายไปถึง กรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคมอันได้ส่งสำเนามาให้ดูแต่ก่อนแล้ว บัดนี้ ได้รับคำตอบยืนยันว่า บ้านหมากแข้งเป็นที่สมควรแลสมัคใจที่จะอยู่ในที่นั้น มีปันซ์ แลยูดี อไรเจือปนต่าง ๆ ได้ส่งสำเนามาให้ดูด้วย เมื่อตรวจสอบแผนที่ฤามีความเห็นที่จะอธิบายโต้แย้งอีกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบจะได้ตอบกรมหมื่นประจักษ์…"
และได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา ที่ ๒/ ๓๔๕๐ ถึง กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ความว่า
"…ด้วย ได้รับหนังสือ ลงวันที่ ๒ มกราคมนี้ ซึ่งตอบช้าไป เพราะเหตุใดเธอคงจะทราบอยู่แล้วการซึ่งเธอเหนว่า บ้านหมากแข้งเปนที่สมควรจะตั้งอยู่ โดยอธิบายหลายประการนั้น ก็ให้ตั้งอยู่ที่นั้นจัดการเต็มตามความคิดที่เห็นว่าจะเป็นคุณแก่ราชการ…"
บ้านหมากแข้งที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ดเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) ได้ทรงเล่าถึงเมืองอุดร (ขณะเป็นบ้านหมากแข้ง) ในขณะนั้นไว้ว่า
"…เวลานี้ที่ว่าการมณฑล ที่ว่าการอำเภอ ศาล เรือนจำ โรงทหาร โรงพัก ตำรวจภูธร ออฟฟิศ ไปรษณีย์ โทรเลข และบ้านเรือนข้าราชการอยู่ติดต่อเป็นระยะลำดับกันไป มีตลาดขายของสดและมีตึกอย่างโคราชของพ่อค้า นายห้างบ้าง มีวัดเรียกวัดมัชฌิมาวาสตั้งอยู่บนเนิน และมีบ่อน้ำใหญ่สำหรับราษฎรได้ใช้น้ำทุก ๆ ฤดูกาลด้วย มีบ้านเรือนราษฎรมาตั้งอยู่หลังบ้านข้าราชการ มีถนนตัดตรง ๆ ไปตามที่ตั้งที่ทำการและตลาดเหล่านี้หลายสาย และเมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าจะมาคราวนี้ มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่งและเมื่อรื้อที่ว่าการบัดนี้ ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ถนนสายนี้ จะบรรจบกับถนนเก่าเป็นถนนยาวและงามมาก…"
และได้ทรงอธิบายถึงหนองนาเกลือว่า
"เป็นหนองใหญ่ เพราะปิดน้ำไว้คล้ายทุ่งสร้างที่เมืองขอนแก่น ได้ขนานนามว่าหนองประจักษ์"
กองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้งในเวลานั้น นายสังข์ นุตราวงศ์ ทนายความอดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมคนเก่าแก่เมืองอุดรธานี ได้เล่าให้ฟังว่า
"…ที่ทำการมณฑลและสถานที่ราชการต่าง ๆ นั้น ตั้งอยู่บริเวณใกล้หนองน้ำใหญ่ที่มีชื่อว่า หนองนาเกลือ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นหนองประจักษ์ในภายหลัง) บริเวณศาลาว่าการมณฑลและศาลประจำมณฑลอยู่ติดกัน และหันหน้าที่ทำการไปทางทิศเหนือ เพราะทั้งนี้ เนื่องจากเตรียมรับข้าศึกหากจะมีการรบกับฝรั่งเศส ส่วนที่ประทับของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมนั้น อยู่บริเวณที่เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรงข้ามกับวัดวัชฌิมาวาสวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนาข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวพวนสืบต่อจากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม บริเวณที่เป็นทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าลักษณะคล้ายทุ่งนาผสมป่าละเมาะ มีต้นไม้ใหญ่อยู่อย่างประปราย
นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นสำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมทหารส่วนเรือนจำนั้นตั้งอยู่บริเวณที่เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานีในเวลานี้ และสำหรับหนองนาเกลือนั้นในเวลานั้นเป็นหนองน้ำที่กว้างใหญ่ เมื่อคนจะข้ามมาติดต่อกับส่วนราชการที่ตั้งศาลาว่าการมณฑลจากฝั่งหนองนาเกลือด้านตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกก็จะต้องจ้างเรือแจวที่มีผู้มารับจ้างที่หนองนาเกลือเพราะในเวลานั้นน้ำลึก มีปลา และจรเข้ชุกชุม…"
ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิรูปการปกครองนั้น (ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕) การปกครองของประเทศไทยในส่วนภูมิภาคเป็น "ระบบกินเมือง" จึงได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นแบบเทศาภิบาล โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕
(ร.ศ. ๑๑๑) โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ (เฉพาะในมณฑลลาวพวน เรียกว่า ข้าหลวงต่างพระองค์) ต่อมาได้ทรงเลิกตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ มีตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลแทนขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งสามารถแบ่งเบาพระราชภาระในการปกครองแผ่นดินลงได้ทั้งยังสามารถอำนวยความสุขร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น บ้านหมากแข้งในฐานะกองบัญชาการมณฑลลาวพวน จึงมีข้าหลวงใหญ่ปกครองตามลำดับ คือ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (ร.ศ. ๑๑๒ - ๑๑๘) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา
(ร.ศ. ๑๑๘ - ๑๒๕) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองมณฑลจากข้าหลวงใหญ่ (หรือข้าหลวงต่างพระองค์) เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ (ร.ศ. ๑๑๘) ปีกุน เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ โดยมีเมืองต่าง ๆ รวม ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ คือ เมืองหนองคาย หนองหาน ขอนแก่น ชนบท หล่มศักดิ์ กมุทาสัย สกลนคร ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน นครพนม มุกดาหาร
ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลอุดรและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองที่จัดแบ่งไว้ในมณฑลอุดรมีมากเกินความจำเป็นในการปกครอง จึงทรงรวมหัวเมืองในมณฑลเป็นบริเวณซึ่งมีฐานะเท่าจังหวัดเพื่อให้เหมาะสมแก่การปกครอง และโปรดให้ยุบเมืองจัตวาบางเมืองลงเป็นอำเภอ ส่วนอำเภอใดที่เคยเป็นเมืองขึ้นกับเมืองที่ตั้งเป็นบริเวณหรือสมควรจะให้ขึ้นกับบริเวณใดก็ให้รวมเข้าไว้ในบริเวณนั้น โดยโปรดให้แบ่งออกเป็น ๕ บริเวณ คือ
(๑) บริเวณหมากแข้ง มี ๗ เมือง คือ บ้านหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาไสย เมืองโพนพิไศรย เมืองรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการบริเวณที่บ้านหมากแข้ง
(๒) บริเวณพาชี มี ๓ เมือง คือ เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองขอนแก่น
(๓) บริเวณธาตุพนม มี ๔ เมือง คือ เมืองนครพนม เมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองมุกดาหาร ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองนครพนม
(๔) บริเวณสกลนคร มี ๑ เมืองคือ เมืองสกลนคร ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองสกลนคร
(๕) บริเวณน้ำเหือง มี ๓ เมือง คือ เมืองเลย เมืองบ่อแตน เมืองแก่นท้าว ตั้งที่ว่าการบริเวณที่เมืองเลย
ลักษณะการปกครองที่รวมเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และจัดแบ่งการบริหารออกเป็น ๕ บริเวณ ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด ส่วนเมืองที่อยู่ในสังกัดบริเวณมีฐานะเทียบเท่ากับอำเภอนั้นอาจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดการปกครองในมณฑลอุดรให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณ ควบคุมเจ้าเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีข้าหลวงตรวจการประจำเมืองควบคุมอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าอำนาจจากส่วนกลางได้ขยายออกไปควบคุมอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้ผลดียิ่งขึ้น สามารถควบคุมเจ้าเมืองและตรวจตราทุกข์สุขของราษฎรได้อย่างทั่วถึง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น